Feeds:
Posts
Comments

Archive for August, 2023

เมืองโบราณศรีเทพ เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ มีร่องรอยทางโบราณคดีหลายยุคหลายสมัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ โครงกระดูกมนุษย์ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 จนมาเป็นสมัยที่ก่อตั้งเป็นรัฐแรกเริ่ม ที่ปรากฏมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะและเทวรูปฮินดูรุ่นเก่าพุทธศตวรรษที่ 11-12 และมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 จนกระทั้ง มีโบราณสถานศาสนาฮินดูสมัยขอมประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้วจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ปรากฏร่องรอยที่มีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนี้ จะมีเวลาต่อเนื่องทางวัฒนธรรมกันมายาวนานนับ 1000 ปี

โบราณสถานที่อยู่ใน เมืองใน

คุณค่าโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพนั้น คือ นอกจากจะมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาความชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ ที่เลือกเอาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพให้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งต่อเนื่องกันมาช้านาน เพราะมีคุณลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพิเศษ โดยเป็นศูนย์กลางการติดต่อกันของชุมชนโบราณระหว่างภาคอีสานฝั่งตะวันออกและภาคกลางฝั่งตะวันตก และยังเป็นชุมทางรวบรวมสินค้าของป่าจากตอนเหนือของแม่น้ำป่าสักอีกด้วย จนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีอารยธรรมหลายยุคหลายสมัยซ้อนทับต่อเนื่องกันมาในสถานที่เดียวกัน

เมื่อวันที่ 19 กย. 2566 UNESCO ได้ให้การรับรองให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการในการประชุมที่เมืองริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีบันทึกแบบย่อ เรื่อง การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพ แปลคร่าว ๆ ได้ดังนี้ 
“เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวข้องกัน มีองค์ประกอบ 3 บริเวณของการเป็นมรดกโลก อันได้แก่ เมืองโบราณบริเวณภายในคูน้ำคันดิน ทั้งเมืองในและเมืองนอก มหาสถูปเขาคลังนอก และถ้ำเขาถมอรัตน์ ซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรม รูปแบบศิลปกรรม และความหลากหลายทางศาสนา ของจักรวรรดิทวารวดีที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ในช่วง ค.ศ. 6-10 อันแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากอินเดีย แล้วนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้เกิดเป็นรูปแบบศิลปกรรมของตนเองที่เรียกว่า สกุลช่างศรีเทพ และได้มีอิทธิพลส่งต่อไปยังอารยธรรมอื่นในชั้นหลังที่อยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เมืองโบราณศรีเทพ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO นั้น เป็นเฉพาะโบราณสถานที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมทวารวดี อันมี 3 บริเวณด้วยกัน คือ
1. บริเวณภายในเมือง ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทั้งเมืองในและเมืองนอก ซึ่งจะมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง โรงอุโบสถ และหลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ฯลฯ
2. บริเวณเขาคลังนอก มหาสถูปทวารวดี รูปแบบมณฑลจักรวาล และเจดีย์บริวาร ที่อยู่นอกเมือง
3. เขาถมอรัตน์ ที่มีผนังถ้ำด้านบน แกะสลักเป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ สมัยทวารวดี

ปรางค์ศรีเทพ

แต่สิ่งที่เป็นความพิเศษของเมืองโบราณศรีเทพนั้น นอกจากโบราณสถานที่ใหญ่โตงดงาม และสะท้อนถึงวัฒนธรรมหลายยุคหลายสมัยแล้ว ยังมีเรื่องราวน่ารู้ที่ยังซ่อนอยู่อีกมากมาย ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้ จึงต้องรอให้สำรวจพิสูจน์ทราบกันต่อไป ดังนี้

1. อาณาเขตเมืองโบราณศรีเทพนั้น มีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก เฉพาะในเขตเมืองที่อยู่ในคูน้ำคันดิน ก็มีพื้นที่ถึง 2889 ไร่และไม่มีการบุกรุกเลย ซึ่งมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่อยู่แผ่ขยายออกไปนอกจากเขตนี้อีกเป็นรัศมีโดยรอบนับ 10 กิโลเมตร
2. เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสักก็จริง แต่เป็นตะพักดอนเกาะลาดเอียงจากตะวันออกไปตะวันตก ทำให้น้ำท่วมไม่ถึง และยังมีการบริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากภูเขาด้านทิศตะวันออก โดยมีคันทดน้ำ เบนน้ำให้ไหลเข้ามากักเก็บไว้ที่คูเมืองขนาดใหญ่รอบ ๆ เมือง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย ซึ่งร่องรอยของคันทดน้ำเบนน้ำเหล่านี้ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่
3. เมืองโบราณศรีเทพ มีร่องรอยทางโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอม อันจะเป็นหลักฐานที่สำคัญที่จะต่อยอดเติมเต็มการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์บนแผ่นดินไทยในโรงเรียน ที่แต่เดิมเคยเรียนเพียงแค่สมัยสุโขทัยลงมา จนเป็นอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์เท่านั้น และหลักฐานทั้งหมดนี้ มีปรากฏอยู่ในเมืองโบราณศรีเทพอย่างครบถ้วน
4. เมืองโบราณศรีเทพ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงการนับถือศาสนาที่หลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ ศาสนาผี ซึ่งถือเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ บรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขวัญ ศาสนาฮินดู ที่มีหลากหลายนิกาย เช่น ไวษณพนิกายนับถือพระนารายณ์ ไศวนิกายนับถือพระศิวะ และลัทธิเสาระนับถือพระอาทิตย์ ส่วนศาสนาพุทธนั้น ก็มีทั้งนิกายมหายานที่นับถือพระโพธิสัตว์ และนิกายเถรวาทที่มีธรรมจักร พระพุทธรูป ใบเสมาและเจดีย์เป็นสัญลักษณ์
5. ที่หลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏว่า พบลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้มนี้ วางอยู่ใกล้ ๆ กับโครงกระดูก  อายุประมาณ 2000 ปี ซึ่งหินคาร์เนเลียนแบบนี้ ไม่มีในเมืองไทย แต่จะมีอยู่ที่อินเดีย จึงเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมมาช้านานแล้ว นอกจากนั้น บางหลุมยังมีการพบโครงกระดูกสัตว์เลี้ยง เช่น ช้าง และสุนัข ถูกฝังรวมกับโครงกระดูกมนุษย์ด้วย ซึ่งนั้นอาจเป็นความเชื่อเรื่องสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของเจ้าของ หรือความเชื่อเรื่องสัตว์นำทางไปสู่โลกหน้า

หลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์


6. มีการพบเทวรูปรุ่นเก่าในศาสนาฮินดูที่มีอิทธิพลจากอินเดีย ได้แก่ พระวิษณุ พระกฤษณะ และมีเทวรูปพระสุริยเทพที่พบมากที่สุดถึง 6 องค์ด้วยกัน
7. ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่พบในอาณาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ มีการกล่าวถึงพระเจ้าศรีภววรมัน จึงเป็นศิลาจารึกที่สามารถเทียบเคียงเพื่อทราบเวลาได้ว่า น่าจะมีการทำจารึกไว้ตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 11 จึงเป็นจารึกที่มีความเก่าแก่ที่สุดในบรรดาศิลาจารึกที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ และอาจเป็นหมุดหมายที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพเปลี่ยนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตามบริบทของชุมชนแห่งนี้

จารึกบ้านวังไผ่

8. ในเมืองโบราณศรีเทพ ได้พบศิลาจารึกโบราณหลายหลัก เช่น จารึกบ้านวังไผ่ จารึกเมืองศรีเทพ พช.1 จารึกบนพระพิมพ์เนื้อดิน จารึกเยธัมมา จารึกบึงนาจาน จารึกอักษรปัลลวะที่กล่าวถึงพระวิษณุ พระรามพระลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจารึกด้วยอักษรปัลลวะ อันเป็นอักษรจากอินเดียโบราณ จารึกเป็นภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าอักษรขอม ที่พบในจารึกชั้นหลังมาในเมืองโบราณศรีเทพ
9. ที่โบราณสถานเขาคลังใน สร้างในวัฒนธรรมทวารวดี มีรูปปั้นคนแคระแบกสถูปถึง 5 หน้าด้วยกัน คือ คน สิงห์ ลิง ช้าง และวัว ในขณะที่คนแคระตามโบราณสถานแห่งอื่น ๆ มีเพียงหน้าคนเพียงหน้าเดียว
10. โบราณสถานเขาคลังนอก มีการสร้างเป็นแบบจำลองมณฑลจักรวาล ที่มี 3 ชั้น กามภูมิ รูปภูมิ และชั้นสูงสุด อรูปภูมิ โดยรอบ ๆ องค์เจดีย์ที่อยู่ด้านบน ปรากฎร่องรอยของหลุม ซึ่งน่าจะเคยเป็นหลุมเสาที่รับหลังคามุงไว้สำหรับการปฏิบัติศาสนพิธี
11. เขาคลังนอก ที่สร้างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 64 เมตร เดิมเคยมีทางขึ้นได้ทั้ง 4 ทิศ แต่ต่อมาภายหลัง ได้ถูกปิด ให้สามารถขึ้นไปได้เพียงทิศตะวันตกเพียงทิศเดียว
12. บนยอดเขาถมอรัตน์ มีถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ผนังและเสาหินภายในถ้ำมีภาพสลักนูนต่ำ สมัยทวารวดี เป็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ แบบมหายาน และพระพุทธรูป ธรรมจักร และสถูป แบบเถรวาท อยู่ร่วมกัน และเมื่อขึ้นไปบนยอดเขา ก็จะปรากฏร่องรอยที่น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างศาสนสถานอยู่บนสุดอีกด้วย

ถ้ำบนเขาถมอรัตน์


13. พบพระพุทธรูปพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ทวารวดี ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหลายองค์ ที่เมืองโบราณศรีเทพ ด้านหน้ามีจารึกอยู่ที่ขอบทั้ง 2 ข้างเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ด้านหน้าขวาจารึกว่า อิรม แปลว่า โลก ด้านหน้าซ้ายจารึกว่า ปุรชาวลํ แปลว่า สันตติวงศ์ ส่วนข้อความด้านหลัง อักษรจีน 4 ตัว อ่านว่า ปี่-ชิว-เหวิน-เซียง แปลว่า ภิกษุเหวินเซียง ซึ่งน่าจะเป็นชื่อผู้ให้สร้างพระองค์นี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาสืบทอดพระพุทธศาสนา อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการมีการมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างชาติทั้งอินเดียและจีนของเมืองโบราณศรีเทพ ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดีแล้ว

จารึกบนพระพิมพ์

14. โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งจริง ๆ คือปราสาท เพราะด้านในใช้เป็นที่ตั้งของรูปเคารพและสามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้ เป็นศิลปะขอม สร้างอยู่ในแกนเดียวกัน แต่กลับหันหน้าไปทิศตะวันตก ต่างจากศาสนาสถานทั่ว ๆ ไปที่นิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
15. ที่ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์องค์เล็ก มีทับหลังอุมามเหศวร ที่แกะสลักได้อ่อนช้อยและงดงามยิ่งนัก
16. ในเขตเมืองโบราณศรีเทพ ยังมีปรางค์ฤาษี ศิลปะขอมอยู่อีก 1 องค์ อยู่นอกเมืองเขตคูน้ำคันดิน ซึ่งสร้างมาก่อนปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องเสียอีก
17. ในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของเมืองโบราณศรีเทพ ยังมีโบราณสถานทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ที่ยังไม่ได้ขุดสำรวจอีกมากมาย เช่น เขาคลังสระแก้ว เขาคลังหน้าที่อยู่ตำบลคลองกระจัง และที่อยู่ภายในเขตคูน้ำคันดินอีกกว่า 50 แห่ง
18. เขาถมอรัตน์ มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับกับตัวเมืองศรีเทพมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเป็นเขาลูกโดด มีความสมมาตรพอสมควร มองเห็นเป็นสามเหลี่ยม จึงถูกใช้เป็นที่หมายในการเดินทางมาเมืองศรีเทพของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บนยอดเขามีภาพแกะสลักศิลปะทวารวดี และปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง ที่หันหน้ามาทิศตะวันตก นั่นก็คือหันหน้ามายังเขาถมอรัตน์แห่งนี้ อันเปรียบเสมือนเขาไกรลาสของพระศิวะ นอกจากนั้น เขาคลังนอก ที่ภายหลังได้ถูกปิดทางขึ้นด้านอื่น ให้เหลือทางขึ้นเพียงทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว นั่นก็คือ เป็นการปรับให้มีด้านหน้าหันเข้าหาเขาถมอรัตน์เช่นเดียวกัน

เขาถมอรัตน์และเขาคลังนอก

19. มีคนให้ข้อมูลและส่งรูปมาให้ดูว่า ได้พบขุดเหรียญฟูนัน เมื่อประมาณปี 2522-2523 บรรจุอยู่ในไห 2 ใบ บริเวณที่นาริมแม่น้ำป่าสัก ห่างจากถนนใหญ่ 4-5 กม. เข้าไปทางหลังโรงเรียนบ้านโคกสง่า ต.พุขาม อ.วิเชียรบุรี ซึ่งอยู่ในเขตบริเวณอันกว้างใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ
ฟูนัน เป็นอารยธรรมช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านจากยุคก่อนประวัติศาสตร์มาเป็นยุคประวัติศาสตร์ ตามบริบทของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
20. “สกุลช่างศรีเทพ” เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพ มีความพิเศษที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ
เมืองโบราณศรีเทพได้เจริญขึ้นพร้อมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา จึงมีการพัฒนาภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง ซึ่งเห็นได้จาก แผ่นทองคำดุนลายและประติมากรรมเทวรูปในศาสนาฮินดูรุ่นเก่า เป็นประติมากรรมลอยตัวที่มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหว นอกจากนั้น ประติมากรรมเทวรูปต่าง ๆ ของศรีเทพ ก็เป็นการแกะสลักศิลาลอยองค์ทั้งตัวเลย โดยไม่มีการทำเครื่องประดับส่วนประกอบด้านข้างที่จะทำหน้าที่ยึดโยงไม่ให้เศียรและพระกรหักง่ายอย่างประติมากรรมเทวรูปในที่อื่น ๆ เลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือ“สกุลช่างศรีเทพ”
งานประติมากรรมของเมืองโบราณศรีเทพ ได้ส่งผ่านมาจากอารยธรรมอินเดียใต้ จากนั้น ได้นำผสมผสานและสร้างสรรค์จนมีรูปแบบใหม่ที่ลงตัว เป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง โดยไม่ได้รับอิทธิพลเชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมที่อยู่รอบทะเลสาบเขมรที่มีอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันแต่อย่างใดเลย

สกุลช่างศรีเทพ

21. ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นช่วงที่เมืองโบราณศรีเทพมีวัฒนธรรมขอมซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานที่เป็นปรางค์ต่าง ๆ นั้น แต่กลับปรากฏว่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมพระองค์เดียวที่นับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนเมืองโบราณศรีเทพให้กลับมาเป็นการนับถือศาสนาพุทธอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากมีร่องรอยการทำลายและละทิ้งเทวรูปฮินดูต่าง ๆ และปรากฏซากโกลนศิลาที่จะใช้ประดับพุทธสถาน แต่ทำไม่แล้วเสร็จ เมืองโบราณศรีเทพก็ถูกทิ้งร้างไปเสียก่อนโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แล้วจึงเกิดเป็นยุคสมัยสุโขทัยต่อมา
22. การที่เมืองโบราณศรีเทพถูกทิ้งร้างไปนั้น มีตำนานเรื่องฤาษีตาไฟและฤาษีตาวัว กับบ่อน้ำกรดและบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งจบลงด้วยมีการเสกให้วัววิ่งเข้าไปในเมืองศรีเทพ และปล่อยพิษออกจากท้องวัว จนคนในเมืองศรีเทพตายกันหมด ซึ่งอาจเป็นตำนานที่พยายามจะเล่าถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้น จนทำให้คนศรีเทพตายไปเป็นจำนวนมาก และทิ้งร้างเมืองไปก็ได้
23. ชื่อเมืองโบราณศรีเทพ จริง ๆ แล้ว ชื่ออะไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งบอกได้ แต่ที่ใช้ชื่อว่า ศรีเทพ นั้น เป็นการอนุโลมตามที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลเพ็ชรบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2447 และได้ทรงบันทึกรายละเอียดการเดินทางไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” เรื่องที่ 10 “ความไข้ที่เมืองเพ็ชรบูรณ์” ว่าชื่อเมืองศรีเทพที่พระองค์ทรงพบในเอกสารโบราณที่กำหนดว่า ตั้งอยู่ระหว่างเมืองชัยบาดาลและเมืองเพชรบูรณ์นั้น จึงน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานเรียกชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ที่แน่ชัด
24. โบราณวัตถุ สิ่งของทางโบราณคดีที่สำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ได้ถูกจารกรรมไปมากมายโดยทั้งจากคนในพื้นที่ในอดีตที่ไม่รู้คุณค่าและคนจากที่อื่น ซึ่งได้พบว่า ไปถูกจัดแสดงอยู่ที่ต่างประเทศจำนวนมากมาย อีกทั้งยังถูกกระจายนำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ตามที่ต่าง ๆ ในประเทศ และยังมีอยู่ในความครอบครองของประชาชนและเอกชนอีกมากมาย จึงเป็นภารกิจของคนเพชรบูรณ์ต่อไปที่จะต้องรณรงค์ให้มีการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศรีเทพ” และมีกระบวนการเพื่อรวบรวมนำโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าเหล่านั้น ให้กลับมาจัดแสดงไว้ในสถานที่ดั้งเดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ถูกจัดทำจัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม ก็คือ ที่เมืองโบราณศรีเทพแห่งนี้

ปรางค์สองพี่น้อง
ปรางค์ฤาษี
เขาคลังนอก
คนแคระหน้า 5 แบบที่เขาคลังใน
ลูกปัดหินคาร์เนเลียน
เขาคลังใน

Read Full Post »